วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ในหลวงกับดนตรี

พระมหากษัตริย์นักดนตรี
มีเรื่องเล่ากันมาว่า นักดนตรีเอกของโลกได้กล่าวถึงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรีว่า หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ก็จะต้องทรงเป็นพระราชานักดนตรีของโลก แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นทั้งพระมหากษัตริย์ และทรงเป็นนักดนตรีได้พร้อมกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในด้านดนตรีมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ดังที่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในบทพระนิพนธ์ “เจ้านายเล็กๆยุวกษัตริย์ ” ความตอนหนึ่งว่า


“เมื่อถึงเวลาสนพระทัยแผ่นเสียงก็แข่งกันอีก รัชกาลที่ ๘ ทรงเลือก Louis Armstrong, Sidney Bechet รัชกาลที่ ๙ ทรงเลือก Duke Ellington, Count Basie เกี่ยวกับการซื้อแผ่นเสียงนี้ ถ้าเป็นแจ๊สต้องซื้อเอง ถ้าเป็นคลาสสิคเบิกได้”
“สิ่งที่ทรงเล่นมาด้วยกันเป็นเวลานานคือดนตรี รัชกาลที่ ๘ ทรงเริ่มด้วยเปียโนเพราะเห็นข้าพเจ้าเรียนอยู่ รัชกาลที่ ๙ ขอเล่นหีบเพลง (accordion) เรียนอยู่ไม่กี่ครั้งก็ทรงเลิก “เพราะไม่เข้ากับเปียโน” แล้วรัชกาลที่ ๘ ก็ทรงเลิกเรียนเปียโนไป เมื่ออยู่อาโรซ่า เวลาหน้าหนาว ได้ทอดพระเนตรวงดนตรีวงใหญ่ที่เล่นอยู่ที่โรงแรม รู้สึกอยากเล่นกัน ทรงหาแซกโซโฟนที่เป็นของใช้แล้ว (second hand) มาได้ ราคา ๓๐๐ แฟรงค์ แม่ออกให้ครึ่งหนึ่งและสโมสรปาตาปุมออกให้อีกครึ่งหนึ่ง

เมื่อครูมาสอนที่บ้าน รัชกาลที่ ๘ ทรงดันพระอนุชาเข้าไปในห้องเรียน รัชกาลที่ ๙ จึงเป็นผู้ริเริ่ม เมื่อเรียนไปแล้ว ๒-๓ ครั้ง รัชกาลที่ ๘ ทรงซื้อแคลริเน็ต (clarinet) ส่วนพระองค์ วันเรียน ครูสอนองค์ละ ๓๐ นาที แล้วครูก็เอาแซกโซโฟน (saxophone) ของเขาออกมาและเล่นด้วยกันทั้ง ๓ เป็น Trio”
ครูสอนดนตรี ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าไว้นี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในบทพระราชนิพนธ์ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาดนตรี” เช่นกัน มีความว่า
“....ครูสอนดนตรีชื่อนายเวย์เบรชท์ (Weybrecht) เป็นชาวอัลซาส (Alsace) ซึ่งเป็นแคว้นของฝรั่งเศสที่พูดภาษาเยอรมัน เวลาพูดภาษาฝรั่งเศสยังมีสำเนียงภาษาเยอรมันติดมาบ้าง นายเวย์เบรชท์ทำงานอยู่ร้านขายเครื่องดนตรี (ขายทุก ๆ ยี่ห้อ) และยังเป็นนักเป่าแซกโซโฟนอยู่ในวงของสถานีวิทยุ เขาเล่นดนตรีได้หลายอย่าง รวมทั้งแคลริเน็ตด้วย...นอกจากการเล่นดนตรีแล้ว ครูยังสอนวิชาการดนตรีให้ด้วย รวมทั้งการเขียนโน้ตสากลต่าง ๆ ”

ในบทพระราชนิพนธ์ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาดนตรี” ยังทรงเล่าความเกี่ยวกับความสนพระราชหฤทัยในการทรงศึกษาเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ ได้แก่ แตร เปียโน กีตาร์ และขลุ่ย ดังนี้
“...สำหรับแตรนั้นสนพระราชหฤทัยจึงไปเช่ามาเป็นแตรคอร์เน็ต อีกหลายปีจึงทรงซื้อเอง ดูเหมือนว่าแตรทรัมเป็ตเครื่องแรกที่ทรงซื้อจะ
เป็นแตรยี่ห้อเซลเมอร์ สั่งซื้อจากอังกฤษ แต่เป็นของฝรั่งเศส (เครื่องนี้พระราชทานวงสุนทราภรณ์ไป) จึงซื้อใหม่ยี่ห้อเซลเมอร์เหมือนกัน
ครูเวย์เบรชท์บอกว่าแตรดีที่สุดคือยี่ห้อกูร์ตัว แต่ไม่ได้ทรงซื้อ...”
“… สำหรับเครื่องดนตรีต่างๆที่ทรงเล่น มีเปียโน ไม่เคยทรงเรียนจริงจังจากใคร เล่นเอาเอง ดูโน้ต เรียนวิธีประสานเสียง กีตาร์ ทรงเล่นเมื่อพระชนม์ราว ๑๖ พรรษา เพื่อนที่โรงเรียนเป็นรุ่นพี่อายุมากกว่า ให้ยืมเล่น ภายหลังไปเอาคืน เขาเห็นว่าสนใจจึงให้เลย ขลุ่ย ทรงเล่นเมื่อพระชนม์ประมาณ ๑๖-๑๗ พรรษา เห็นว่าราคาไม่แพงนัก เล่นไม่ยาก นิ้วคล้ายๆแซกโซโฟน...ตอนหลังเคยเห็นทรงเล่นไวโอลินด้วย
คิดว่าทรงเล่นเอาเองไม่มีครูสอนดนตรี …”
นอกจากจะทรงศึกษาวิชาดนตรีจากพระอาจารย์ชาวต่างประเทศในต่างประเทศ แต่เมื่อยังทรงพระเยาว์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงได้รับการแนะนำการดนตรีจาก พระเจนดุริยางค์ ชาวต่างชาติที่เข้ามารับราชการในประเทศไทย ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เช่นกันว่า
“...คุณพระเจนดุริยางค์ เป็นอีกท่านที่กราบบังคมแนะนำเกี่ยวกับดนตรี โปรดคุณพระเจน ฯมาก ทรงพิมพ์ตำราที่คุณพระเจน ฯ ประพันธ์ขึ้นทุกเล่ม ระหว่างการพิมพ์และตรวจปรู๊ฟได้ความรู้เกี่ยวกับดนตรีมาก ส่วนไหนที่ไม่เข้าพระทัยก็มีรับสั่งถามคุณพระเจน ฯ เรื่องการพิมพ์หนังสือนี้ คุณแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังคนปัจจุบันทราบดี เพราะเป็นผู้ที่ทรงมอบหมายให้ดำเนินการ ได้ทราบว่าคุณพระเจน ฯ ก็ปรารภว่า ในด้านทฤษฎีไม่ทรงทราบมากนัก แต่ทำไมเคาะเสียงถูกต้องทุกที “
นอกจากทรงเล่นดนตรีแล้ว ยังทรงสอนดนตรีให้ผู้อื่นเล่นด้วย เคยเล่าพระราชทานว่า
“ได้สอนคนตาบอดเล่นดนตรี สอนลำบากเพราะเขาไม่เห็นท่าทาง เมื่อพยายามอธิบายจนเข้าใจสามารถเป่าออกมาเป็นเพลงไพเราะได้ หรือแม้แต่โน้ตเดียวในตอนแรก ดูสีหน้าเขาแสดงความพอใจและภูมิใจมาก”

ทรงแนะนำวิธีการเล่นดนตรีพระราชทานผู้อื่นที่มาเล่นดนตรีถวาย หรือเล่นร่วมวง ดูเหมือนจะเคยมีรับสั่งว่า การเล่นดนตรีทำให้เกิดความสามัคคีเป็นนักดนตรีเหมือนกัน

ในส่วนที่ทรงพระราชนิพนธ์เพลงนั้น ทรงเริ่มอย่างจริงจังเมื่อมีพระชนมายุ ๑๘ พรรษา ขณะเมื่อยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระอนุชาตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัตพระนคร เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๘ ดังที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ บันทึกความไว้ดังนี้
“๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ เสด็จนิวัตสู่ประเทศไทยพร้อมสมเด็จพระอนุชา และสมเด็จพระราชชนนีประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เข้าเฝ้าในฐานะนักแต่งเพลงสมัครเล่น ได้นำโน้ตที่ได้แต่งไว้แล้วถวายทอดพระเนตร พระราชทานข้อแนะนำเกี่ยวกับการแต่งเพลงประเภทบลูส์ โดยทรงเปียโนสาธิตให้ฟัง และสมเด็จพระอนุชามาใส่คำร้อง เพลงแสงเทียน ยามเย็น สายฝน ตามลำดับ แต่เพลงยามเย็นและเพลงสายฝนได้นำออกสู่ประชาชนก่อนเพลงแสงเทียน โดยพระราชทานให้ออกบรรเลงในงานลีลาศที่สวนอัมพรโดยวงดนตรีของกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) ควบคุมวงโดย เอื้อ สุนทรสนาน และออกอากาศทางวิทยุ กรมโฆษณาการเป็นประจำ เป็นที่ซาบซึ้ง และประทับใจพสกนิกรอย่างมาก....”
“..จากนั้นฉันก็แต่งขึ้นอีกเรื่อยๆ จนบัดนี้รวมทั้ง ๔๐ เพลง ในระยะเวลา ๒๐ ปี คิดเฉลี่ยปีละ ๒ เพลง ที่ทำได้ก็เพราะได้รับการ
สนับสนุนจากนักดนตรี นักเพลงและนักร้อง รวมทั้งประชาชนผู้ฟังต่างก็แสดงความพอใจและความนิยมพอควร
จึงเป็นกำลังใจให้แก่ฉันเรื่อยมา...”

เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงแล้วจึงใส่คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองได้แก่ Echo, Still on My Mind, Old Fashioned Melody, No Moon และ Dream Island ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองจากคำร้องภาษาไทย ได้แก่ เพลงความฝันอันสูงสุด และเราสู้ นอกจากนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และโปรดเกล้า ฯ ให้มีผู้แต่งคำร้องประกอบเพลงพระราชนิพนธ์หลายท่าน ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา นายศุภร ผลชีวิน นายจำนง ราชกิจ (จรัล บุณยรัตนพันธุ์) หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค

เพลงพระราชนิพนธ์ ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๙-๒๕๓๘ มี ๔๘ เพลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความรู้อย่างแตกฉานในทฤษฎีการประพันธ์ ทรงเป็นผู้นำในด้านการประพันธ์ทำนองเพลงสากลของเมืองไทย โดยทรงใส่คอร์ดดนตรีที่แปลกใหม่และซับซ้อนทำให้เกิดเสียงประสานที่เข้มข้นในดนตรี เมื่อประกอบกับลีลาจังหวะเต้นรำที่หลากหลาย ทำให้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงบรรเลงได้อย่างไพเราะหลายบท กลายเป็นเพลงอมตะของไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังทรงมีจินตนาการสร้างสรรค์ไม่ซ้ำแบบผู้ใด และแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา
เพลงพระราชนิพนธ์แต่ละเพลงนั้น ล้วนแสดงออกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าโดยถ้วนหน้า เช่น เพลงยามเย็น พระราชทานแก่สมาคมปราบวัณโรค เพื่อนำออกแสดงเก็บเงินบำรุงการกุศล เพลงใกล้รุ่ง บรรเลงเป็นปฐมฤกษ์ในงานของสมาคมเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย เพลงยิ้มสู้ พระราชทานแก่โรงเรียนสอนคนตาบอด เพลงลมหนาว พระราชทานในงานประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ เพลงพรปีใหม่ พระราชทานแก่พสกนิกรเนื่องในวันปีใหม่ เพลงเกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย เพลงความฝันอันสูงสุด และเพลงเราสู้ พระราชทานแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ Kinari Suite พระราชทานเพื่อใช้ประกอบการแสดงบัลเล่ต์ชุดมโนราห์ และมีเพลงประจำสถาบันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทาน ได้แก่ เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ เพลงธรรมศาสตร์ เพลงเกษตรศาสตร์ เพลงธงชัยเฉลิมพล ราชวัลลภ และ ราชนาวิกโยธิน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีการรวมนักดนตรีสมัครเล่นมารวมกันตั้งเป็นวงขึ้นเป็นครั้งแรก ขณะที่ทรงประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ประกอบด้วยพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ที่ทรงคุ้นเคย และเมื่อโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. (อัมพรสถาน) ขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ เพื่อให้เป็นสื่อกลางที่ให้ความบันเทิงและสาระประโยชน์ในด้านต่างๆ พระราชทานชื่อว่า “วงลายคราม” ก็ได้มีการออกอากาศส่งวิทยุกระจายเสียงกับวงดนตรีต่างๆด้วย

ต่อมาโปรดเกล้า ฯ ให้นักดนตรีรุ่นหนุ่มมาเล่นดนตรีร่วมกับวงลายคราม จึงเกิดเป็น วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ขึ้น วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์มีลักษณะพิเศษคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงร่วมบรรเลงกับสมาชิกของวง ออกอากาศกระจายเสียงทางสถานีวิทยุประจำวันศุกร์ และยังทรงจัดรายการเพลงเอง ทรงเลือกแผ่นเสียงเองในระยะแรก บางครั้งก็โปรดเกล้า ฯ ให้มีการขอเพลง และจะทรงรับโทรศัพท์ด้วยพระองค์เองทุกวันศุกร์ และวันอาทิตย์เป็นวันฝึกซ้อม วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ยังเป็นวงดนตรีที่โปรดให้ไปร่วมบรรเลงในงาน “วันทรงดนตรี” ตามที่มหาวิทยาลัยต่างๆ กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ เพื่อทรงสังสรรค์ร่วมกับนิสิตนักศึกษา เป็นการส่วนพระองค์ ก่อนที่จะยกเลิกไป เพราะทรงมีพระราชกรณียกิจเพิ่มมากขึ้น
ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งแตรวง “สหายพัฒนา” ขึ้นอีกวงหนึ่ง โดยโปรดฯให้รวบรวมผู้ปฏิบัติราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และโดยเสด็จฯในการพัฒนาภูมิภาคต่าง ๆ เป็นประจำ เช่น นักเกษตรหลวง คณะแพทย์อาสาสมัคร ข้าราชการในพระองค์ ราชองค์รักษ์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อน พระราชทานเวลาฝึกสอนในช่วงเวลาทรงออกพระกำลังในตอนค่ำของทุกๆวัน ทรงตั้งแตรวงขึ้นสำเร็จ และยังคงเล่นดนตรีเป็นประจำทุกค่ำของวันศุกร์ และวันอาทิตย์เป็นวันซ้อมร่วมกับนักดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ณ สถานี อ.ส. และเกือบทุกเย็นกับวงสหายพัฒนา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา จนถึงปัจจุบัน
พระปรีชาสามารถในการทรงดนตรีของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ประจักษ์ในนานาประเทศ ดังที่จะเห็นจากการที่ทรงเข้าร่วมบรรเลงดนตรีกับวงดนตรีของประเทศต่าง ๆ ที่เสด็จพระราชดำเนินเยือน ไม่ว่าวงดนตรีนั้น ๆ จะมีการเล่นดนตรีในแบบใด โดยมิได้ทรงเตรียมพระองค์มาก่อน

นักดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลกล้วนถวายการยกย่องพระองค์ในฐานะทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สผู้มีอัจฉริยภาพสูงส่ง ดังเช่น เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินประเทศออสเตรีย เมื่อเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๗ ประธานสถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนาได้ทูลเกล้า ฯ ถวายปริญญากิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นสมาชิกหมายเลข ๒๓ ซึ่งผู้ที่จะได้รับเกียรติเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์แห่งสถาบันนี้ได้ ส่วนใหญ่เป็นผู้มีอาชีพและผลงานด้านดนตรีและศิลปะดีเด่นเป็นที่ยอมรับของชาวโลกทั้งสิ้น
ด้านการดนตรีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงละเลยดนตรีไทย อันเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ ได้มีพระราชดำริให้มีการรวบรวมเพลงไทยเดิมขึ้นไว้ แล้วบันทึกโน้ตเพลงไทยเดิมขึ้นเป็นหลักฐาน เพื่อที่จะได้พิมพ์เผยแพร่วิชาการดนตรีไทยในหมู่ประชาชนต่อไป ทรงริเริ่มให้มีการวิจัยเกี่ยวกับดนตรีไทยประเภทต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังทรงได้ ริเริ่มให้นำเพลงสากลมาแต่งเป็นแนวเพลงไทย โดยโปรดเกล้า ฯ ให้นาย
เทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล นำทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ มหาจุฬาลงกรณ์ มาแต่งเป็นแนวไทย บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ เมื่อนำขึ้นบรรเลงถวายแล้วก็พระราชทานชื่อว่า เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ เช่นเดียวกัน นับเป็นเพลงไทยเพลงแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นจากเพลงไทยสากลตามพระราชดำริที่ทรงสร้างสรรค์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับดนตรีแก่นักข่าวชาวอเมริกันในรายการเสียงแห่งวิทยุอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๐๓ ความตอนหนึ่งว่า

“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่ใช่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้าดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่ต่างๆกันออกไป”
ทรงเห็นว่า ดนตรี นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว ควรจะเป็นสื่อสร้างสรรค์ชักนำให้คนเป็นคนดีของประเทศชาติและสังคม ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔
มีความตอนหนึ่งดังนี้
“...การดนตรีจึงมีความหมายสำคัญสำหรับประเทศชาติสำหรับสังคม ถ้าทำดี ๆ ก็ทำให้คนเขามีกำลังใจจะปฏิบัติงานการ ก็เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ให้ความบันเทิง ทำให้คนที่กำลังท้อใจมีกำลังใจขึ้นมาได้ คือเร้าใจได้ คนกำลังไปทางหนึ่งทางที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะดึงกลับมาในทางที่ถูกต้องได้ ฉะนั้น ดนตรีก็มีความสำคัญอย่างหนึ่ง จึงพูดได้กับท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการดนตรีในรูปการณ์ต่าง ๆ ว่า มีความสำคัญและต้องทำให้ถูกต้อง ต้องทำให้ดี ถูกต้องในทางหลักวิชาการดนตรีอย่างหนึ่ง และก็ถูกต้องตามหลักวิชาของผู้ที่มีศีลธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะทำให้เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นประโยชน์ทั้งต่อส่วนรวมทั้งส่วนตัว เพราะก็อย่างที่กล่าวว่าเพลงนี้มันเกิดความปีติภายในของตัวเองได้ ความปีติในผู้อื่นได้ ก็เกิดความดีได้ความเสียก็ได้ ฉะนั้นก็ต้องมีความระมัดระวังให้ดี...”
ที่มา : http://royalmusic.tkpark.or.th/genius.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น